การนวดตอกเส้น (Tapping Line or Hammer massage)
ประวัติ: การนวดตอกเส้นเป็นภูมิปัญญาแบบลานนาซึ่งเป็นการรักษาแบบโบราณมีความศักดิ์สิทธิ์ถ่ายทอดความรู้สืบทอดกันมาประมาณ 725 ปี ตั้งแต่สมัยเชียงแสน ตามตำราที่บอกกล่าวมาแต่ดั้งเดิมและสืบทอดให้แก่คนในครอบครัว ญาติพี่น้องเท่านั้น ส่วนผู้สืบทอดที่ไม่ใช่ญาติการคัดเลือกให้สืบทอดต้องอาศัยทักษะ ดูนิสัยใจคอของผู้เรียนว่ามีศีลธัมมํหรือไม่ ทำให้ศาสตร์นี้เกือบจะหมดไปเพราะขาดการสืบทอดแบบจริงจัง การนวดตอกเส้นเป็นภูมิปัญญาของหมอพื้นบ้าน หมอตอกเส้นเป็นหมอรักษาอาการเจ็บป่วยของคนไข้ที่ไม่หวังผลประโยชน์ทางธุรกิจหรือเรียกร้องผลประโยชน์อื่นใดนอกจากค่าขันครูเท่านั้น ผู้ที่เรียนวิชาตอกเส้นให้ดีต้องเรียนคู่กับธัมมํด้วย
การตอกเส้นคือ: การรักษาอาการเจ็บป่วยเกี่ยวกับเส้นและโรคต่างๆในร่างกายโดยการใช้ลิ่มและค้อนเป็นการกระตุ้นสั่นสะเทือน
ผู้เป็นหมอตอกเส้น:
จะต้องมีความรู้เกี่ยวกับเส้นต่างๆโดยเฉพาะเส้นสิบ การตอกเส้นเป็นการรักษาที่คลายเส้นได้เร็วกว่านวด เพราะมุ่งเน้นการกระตุ้นจุดหรือเส้นที่สำคัญในร่างกายของคน หมอบางคนใช้การตอกเส้นร่วมกับการนวด การตอกเส้นจะตอกเส้นที่มีอาการตึงมากๆจนเส้นคลายจึงนวดการเจ็บป่วยจะหายเร็วขึ้น ก่อนทำการตอกเส้นต้องทำพิธีไหว้ครูอาจารย์ด้วยคาถาชุมนุมเทวดาทำการเสกเป่าฆ้อนและลิ่ม(สลูปหัวฆ้อน) เพื่อประสิทธิผลในการรักษา ป้องกันมิให้กล้ามเนื้อและเส้นเลือดแตกให้ทาน้ำมันว่านสมุนไพร ก่อนทำการตอกเส้นต้องซักประวัติให้ผู้ป่วยเล่าอาการเจ็บตรงไหน เป็นนานเท่าใด หมอทำการวินิจฉัยมีภาพประกอบ และทำพิธีตั้งขันครู แล้วทำการตอกเส้น ความรู้สึกขณะถูกตอกเส้นเหมือนมีกระแสไฟฟ้าวิ่งอยู่ภายในเส้นตามร่างกาย จะมีอาการปวด 15-20 นาทีจึงหายหลังจากความรู้สึกเหมือนมีกระแสไฟฟ้าวิ่งหมดไป การตอกเส้นทำให้เส้นที่อยู่ลึกลงไปดีดขึ้นมาทำให้ทำการรักษาเส้นได้ง่าย การตอกเส้นเป็นการกระตุกเส้นที่อยู่ลึกให้สะดุ้งขึ้นมาและกระตุ้นกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น ให้เลือดสูบฉีดมากขึ้น จากนั้นใช้น้ำมันสมุนไพรหรือลูกประคบในการรักษา เพื่อให้ยาซึมเข้าได้ดี
เส้นเอ็นแบ่งออกเป็น 2 ประเภท
1. เส้นเอ็นใหญ่ (เส้นหลัก) 2. เส้นเอ็นเล็ก (เส้นรอง)
เส้นเอ็นทั้ง 2 เส้น มีความสัมพันธ์กัน ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ซีกซ้ายและซีกขวา
ประโยชน์ของการตอกเส้น: ปรับกล้ามเนื้อที่แข็งเกรงให้อ่อนนุ่ม และปรับสมดุลย์ของร่างกาย ทำให้เลือดลมเดินสะดวก ลดอาการปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ
โรคที่ตอกเส้นรักษาได้ : 1. ปวดส้นเท้า 2. ข้อเท้าแพลง 3.ตะคริวน่อง 4.ปวดเข่า 5.นิ้วล๊อค 6.ปวดข้อศอก 7.ปวดหลัง(เอว) 8.สะบักจม(ไหล่ติด) 9.คอตกหมอน 10.ปวดศรีษะ(ไมเกรน) 11.อัมพฤกษ์-อัมพาต 12.เหน็บชา 13.หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท 14.เหน็บชา 15.เก๊าท์ 16.เส้นเลือดตีบ- ขอด
โรคที่ห้ามตอกเส้น:1. โรคหัวใจ 2.โรคประสาท 3.บริเวณแผลที่เป็นมะเร็ง 4. บริเวณอักเสบ บวม แดง ร้อน บวมพอง 5. โรคความดันโลหิตสูง 6.เป็นไข้
เมื่อมีอาการเหล่านี้ การตอกเส้น จะทำให้อาการกำเริบ เพราะทำให้เลือดสูบฉีดมากขึ้น
การตรวจร่างกาย :
1.บริเวณเส้นที่จะตอกมีอาการบวม แดง ให้ใช้นิ้วกดเบ่าๆ ถ้าเจ็บไม่ควรตอก
2.บริเวณเส้นที่จะตอกมีอาการเส้นเอ็นแข็ง นิ้วกดไม่ลง ไม่มีอาการปวด ควรตอกเส้น เพราะได้ผลดีกว่านวดธรรมดา
อุปกรณ์ในการนวดตอกเส้น :
1. ขันครู (มีเครื่องไหว้ครูตามตำราโบราณ)
2. ฆ้อน และลิ่ม (ไม้ฟ้าฝ่า ไม้มะค่า ไม้มะขาม เขาสัตว์ งาช้าง)
3. น้ำมันว่านสมุนไพร
4. ลูกประคบ
ความหมายของดอกไม้ไหว้ครู
หญ้าแพรก หมายถึง เป็นสัญญาลักษณ์ความอดทน
ดอกมะเขือ หมายถึง เป็นสัญญาลักษณ์ความอ่อนน้มถ่อมตน
ดอกเข็ม หมายถึง เป็นสัญญาลักษณ์ความเฉลียวฉลาด
ท่านวดตอกเส้น: 1.นอนหงาย 2.นอนตะแคง 3.นอนคว่ำ 4.ท่านั่ง
ขั้นตอนการเรียนตอก
1.มอบพานไหว้ครูฝากตัวเป็นศิษย์ 2.ไหว้ครูผู้สอน และเจ้าของตำรา3.ครูมอบฆ้อนไม้และลิ่มไม้
เริ่มเรียน
1.ตอกหมอน
2.ก่อนเริ่มตอกเส้น ให้เปิดธาตุก่อน
2.1 เปิดธาตุ ดิน (นั่งทางด้านซ้าย) ห่างจากสะดือ 2 นิ้ว
2.2 เปิดธาตุน้ำ เหนือสะดือ1 นิ้ว
2.3 เปิดประตูลม บริเวณหัวตะคากโดยเรียงนิ้วหงายมือ
2.4 เปิดธาตุลม (นั่งทางด้านขวา) ห่างจากสะดือ 2 นิ้ว
2.5 เปิดธาตุไฟ เหนือสะดือ 1 นิ้ว
2.6 เปิดอากาศธาตุ ใต้สะดือ 2 นิ้ว
2.7 เปิดปัญจธาตุ
2.8 เปิดประตูลม บริเวณหัวตะคากโดยเรียงนิ้วหงายมือ
3. ตอกเส้นพื้นฐาน ขาท่อนบน ขาท่อนล่าง
4.ตอกเส้นพื้นฐาน ขาท่านอนตะแคง
4.นวดตอกเส้นพื้นฐานหลัง ท่านอนคว่ำ
5.นวดตอกเส้นพื้นฐานหลัง ท่านั่ง
น้ำมันสำหรับใช้การตอกเส้น
น้ำมันว่านสมุนไพร(เสมอภาค)
1.เปราะหอม
2.รากเจตมูลเพลิง
3.ลูกกรวยป่า
4.กระดูกงูเหลื่อม
5.กานพลู
6.ดอกจันท์
7.ลูกจันทน์
8.พริกไทย
9.เทียน
10.น้ำมันงา
11.การบูร/พิมเสน
วิธีทำ : ทอดกับน้ำมันงา กรอง
สรรพคุณ : ทำให้เส้นเอ็นหย่อน และยืดได้ดี เพิ่มความยืดหยุ่นของเส้นเลือดและผิวหนัง
คุณสมบัติของผู้ เข้าเรียน หลักสูตรนวดตอกเส้น : ต้องผ่านหลักสูตรผู้ช่วยแพทย์แผนไทยการนวดแผนไทย 330 - 372 ชั่วโมง หรือต้องผ่านหลักสูตรดังกล่าวก่อน
ข้อมูลอ้างอิง : จาก นางสาวภัคสวีร์ แก่นโพธิ์ (พท.ภ./บ.ว./บ.ผ./พ.น.ท.)โรงเรียนนวดแผนไทย วัดชีป่าสิตาราม ลพบุรี และศูนยศึกษาและส่งเสริมสุขภาพแพทย์แผนไทย จังหวัดลพบุรี ,อ.เมือง,จ.ลพบุรี 15000,โทร 03-661-2911 หรือ 094-959-3924 รวบรวมโดย พท.ภ อรรณพ ผลบุณยรักษ์