นวดไทย 25 จุดเพื่อคลายเครียด
ผู้ที่มีปัญหาปวดเมื่อยร่างกายโดยเฉพาะส่วนคอ บ่า และสะบักอยู่เป็นประจำ คนทำงานสำนักงาน นักบริหาร นักวิชาการ เป็นกลุ่มที่มีอาการดังกล่าวอยู่มาก ส่วนใหญ่เกิดจากความเครียดในชีวิตประจำวัน
เพื่อเป็นการผ่อนคลายความเครียดด้วยการพักผ่อน ทำใจให้สงบ การออกกำลังกาย หางานอดิเรกทำ จะช่วยให้อาการปวดเหล่านี้ทุเลาลงไปได้มาก แต่บางท่านก็เป็นเรื้อรัง จนเส้นบริเวณคอ บ่าและสะบักตึงแข็งมาก การนวดเส้นบริเวณดังกล่าวเป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้ความเครียดลดลงไปได้
การนวดไทย 25 จุดคลายเครียด เรียบเรียงจากการฝึกอบรมการนวดไทยของโครงการฟื้นฟูการนวดไทย และการนวดคลายเครียด ตำแหน่งทั้ง 25 จุด เป็นตำแหน่งที่มักพบว่ามีความตึงเครียดของเส้นอยู่เป็นประจำ การกดนวดทั้ง 25 จุดช่วยลดความเครียดลงได้อย่างน่าพอใจ ท่าในการนวด ให้ผู้ถูกนวดนั่งบนพื้น ผู้นวดนั่งคุกเข่าหรือยืน ถ้านวดชำนาญแล้วอาจให้ผู้ถูกนวดนั่งเก้าอี้ก็ได้
เทคนิคการนวด 25 จุด ให้ใช้นิ้วหัวแม่มือกด โดยค่อยๆเพิ่มแรงกดจนแรงพอที่ทำให้ผู้ถูกนวดรู้สึกปวดหนักๆ แล้วกดนิ่งไว้ประมาณ 10 วินาที หรือนับ 1-10 แล้วค่อยๆ ผ่อนนิ้วมือออก
จุดที่ 1 อยู่ใต้กะโหลกศีรษะ ตรงรอยบุ๋มทางด้านขวา ผู้นวดนั่งคุกเข่าอยู่ทางด้านหลังของผู้ถูกนวดเยื้องไปทางด้านขวาเล็กน้อย ใช้นิ้วหัวแม่มือซ้ายกดจุดที่ 1 สี่นิ้วที่เหลือประคองที่ต้นคอด้านหลัง และใช้มือขวาประคองหน้าผากไว้
จุดที่ 2 อยู่ตรงกลางใต้ท้ายทอย ใช้นิ้วหัวแม่มือซ้ายกดเช่นเดียวกัน
จุดที่ 3 อยู่ใต้กะโหลกศีรษะ ตรงรอยบุ๋มทางด้านซ้าย เปลี่ยนไปใช้นิ้วหัวแม่มือขวากด จุดนี้ผู้นวดควรนั่งเยื้องไปทางด้านซ้ายเล็กน้อย
จุดที่ 4 อยู่ด้านข้างคอต่ำจากจุดที่ 3 ประมาณ 1 นิ้วมือ ใช้นิ้วหัวแม่มือขวากดเช่นกัน
จุดที่ 5 อยู่ด้านข้างคอตรงโคนคอ ต่ำจากจุดที่ 4 ประมาณ 1 นิ้วมือ ใช้นิ้วหัวแม่มือขวากดเช่นกัน
จุดที่ 6 อยู่ตรงส่วนโค้งระหว่างคอกับบ่า ผู้นวดลุกขึ้นยืน แขนเหยียดตรง ใช้นิ้วหัวแม่มือซ้ายกด มือขวาประคองบ่าขวาไว้ ถ้าแรงไม่พออาจใช้ทั้งสองมือช่วยกันกด จุดนี้เป็นจุดที่หลายๆ คนมักมีปัญหา เส้นบริเวณนี้มักตึงมาก
จุดที่ 7 อยู่ตรงกลางบ่า วิธีกดเหมือนจุดที่ 6
จุดที่ 8 อยู่ตรงรอยบุ๋มก่อนถึงกระดูกบริเวณหัวไหล่ กดเหมือนจุดที่ 7
จุดที่ 9 เป็นจุดเดียวกับจุดที่ 4 แต่อยู่ทางด้านขวา ผู้นวดนั่งคุกเข่าเยื้องไปทางด้านขวาของผู้ถูกนวดใช้นิ้วหัวแม่มือซ้ายกด
จุดที่ 10 เป็นจุดเดียวกับจุดที่ 5 แต่อยู่ทางด้านขวา กดเหมือนจุดที่ 9
จุดที่ 11 เป็นจุดเดียวกับจุดที่ 6 แต่อยู่ทางด้านขวา ผู้นวดลุกขึ้นยืนแขนเหยียดตรง ใช้นิ้วหัวแม่มือขวากด มือซ้ายประคองบ่าซ้ายไว้
จุดที่ 12 เป็นจุดเดียวกับจุดที่ 7 แต่อยู่ทางด้านขวา กดเหมือนจุดที่ 11
จุดที่ 13 เป็นจุดเดียวกับจุดที่ 8 แต่อยู่ทางด้านขวา กดเหมือนจุดที่ 12
จุดที่ 14,15 อยู่ตรงมุมบนด้านในของกระดูกสะบักทั้งสองข้าง ใช้นิ้วหัวแม่มือขวาและซ้ายกดพร้อมๆกันแขนเหยียดตรง
จุดที่ 16 อยู่ตรงข้างกระดูกสะบักด้านซ้าย ค่อนไปด้านบนของข้างกระดูก ใช้นิ้วหัวแม่มือขวากดดันเข้าหากระดูกสะบัก
จุดที่ 17 อยู่ข้างกระดูกสะบักด้านซ้าย บริเวณกลางๆ กดเหมือนจุดที่ 16
จุดที่ 18 อยู่ข้างกระดูกสะบักด้านซ้าย ค่อนไปทางด้านล่างของกระดูก กดเหมือนจุดที่ 16
จุดที่ 19 เป็นจุดเดียวกับจุดที่ 16 แต่อยู่ข้างขวา ใช้นิ้วหัวแม่มือซ้ายกดดันเข้าหากระดูกสะบัก
จุดที่ 20 เป็นจุดเดียวกับจุดที่ 17 แต่อยู่ข้างขวา กดเหมือนจุดที่ 19
จุดที่ 21 เป็นจุดเดียวกับจุดที่ 18 แต่อยู่ข้างขวา กดเหมือนจุดที่ 19
จุดที่ 22 อยู่ข้างกระดูกสันหลัง ระดับเดียวกับจุดที่ 17 วิธีกดให้ใช้นิ้วหัวแม่มือซ้ายกดเข้าหากระดูกสันหลัง
จุดที่ 23 อยู่ข้างกระดูกสันหลัง ระดับเดียวกับจุดที่ 20 ใช้นิ้วหัวแม่มือขวากดเข้าหากระดูกสันหลัง
จุดที่ 24,25 อยู่ที่ขมับทั้งสองข้าง ผู้นวดใช้สันมือทั้งสองข้างกดบริเวณขมับพร้อมๆกัน ในจังหวะที่ผู้ถูกนวดหายใจออก แล้วค่อยๆ ผ่อนออก
เมื่อกดนวดครบ 25 จุดแล้ว ควรทำซ้ำอีก 3-5 รอบ ใช้เวลาประมาณ 10 นาที ก็เป็นอันเสร็จสิ้นตามวิชาการ ในกรณีที่ผู้ถูกนวดมีอาการตึงของเส้นที่ตำแหน่งใดมากเป็นพิเศษ เราอาจกดนวดซ้ำและใช้เวลากดนานขึ้นได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของผู้นวด
ลองทำการกด 25 จุดคลายเครียดแล้ว จะรู้สึกหัวโล่ง ตาสว่าง มีชีวิตชีวาขึ้น เป็นความสบายที่ทำให้หลายๆคนต้องอดไม่ได้ที่จะต้องลองนวดอีกเมื่อมีความเครียด ผู้อ่านคิดจะลองฝึกนวดเพื่อช่วยคนข้าง ๆที่มีความเครียดซึ่งอยู่ใกล้ตัวคุณบ้างหรือยังครับ